

พบว่า บริเวณที่ติดริมถนนทางหลวงของบ่อน้ำพุร้อนจะมีรั้วกั้น แต่ด้านในปล่อยโล่ง และมีป้ายเตือนเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และรูปภาพประกอบระบุข้อความ “เป็นพื้นที่อันตรายห้ามลงเล่น” ปัจจุบันบ่อน้ำพุร้อนเหมืองแร่ เป็นสถานที่พักรถและเป็นจุดชมวิว ภูเขา ป่าไม้ ซึ่งยังคงความเป็นธรรมชาติไว้เป็นอย่างดี สำหรับจุดที่เกิดน้ำพุร้อนนี้ เดิมเป็นหลุมขุดเจาะสำรวจเพื่อหาแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังความร้อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเมื่อราวปี พ.ศ. 2536

ด้าน พ.ต.อ. ธนพล บินทปัญญา ผกก.สภ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ยืนยันว่า นักท่องเที่ยวไม่ได้มีการมาแจ้งความ หรือ ลงบันทึกประจำวันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ สภ.ปาย แต่อย่างใด แต่มาทราบภายว่าหลังเกิดเหตุ มีรถยนต์ชาวบ้านมาส่งผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลปาย แต่ทางโรงพยาบาลมีการส่งผู้ป่วยรีเฟอร์ต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลที่ จ.เชียงใหม่ ในวันเดียวกันเท่านั้น
ต่อมา ตำรวจท่องเที่ยวท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางมาพบครอบครัวของเด็กผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว โดยตำรวจท่องเที่ยวจะเข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุว่าเป็นจุดที่ภาคเอกชน หรือ ภาครัฐดูแลรับผิดชอบเพื่อให้เกิดความแน่ชัดก่อน พร้อมช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกให้ครอบครัวนักท่องเที่ยวขณะที่กำลังรักษาตัวอยู่

ล่าสุด (15 ตุลาคม) รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 รายงานว่า นายวรรณศักดิ์ แก่นทรัพย์ ปลัด อบต.เมืองแปง อ.ปาย ระบุว่า โป่งน้ำร้อนดังกล่าวติดตั้งป้ายเตือนเป็นภาษาไทยและอังกฤษแล้ว เนื่องจากมีอุณหภูมิสูงถึง 90-95 องศาเซียลเซียส ส่วนหลังเกิดเหตุ มีสารวัตรท่องเที่ยวสอบถามข้อมูลและข้อเท็จจริงเพื่อติดตามช่วยเหลือ เยียวยาผู้เสียหายแล้ว แต่ผู้เสียหายยังไม่ได้ติดต่อกลับมา เรื่องดังกล่าว เชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
ส่วนกรณีที่อ้างว่ามีการแจ้งความ เมื่อตรวจสอบกล้องวงจรปิดของโรงพัก สภ.ปาย ไม่พบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เดินทางมาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.ปาย

นักท่องเที่ยววัย 35 ปี ซึ่งเป็นแม่ของเด็กที่บาดเจ็บ เล่าว่า ตนพร้อมสามีและลูกชายเดินทางมาจากพัทยา เพื่อมาเที่ยวภาคเหนือโดยลงเครื่องที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม จากนั้นได้เช่ารถไปเที่ยวปาย ในวันที่ 4 ตุลาคม ระหว่างทางแวะน้ำพุร้อนและถ่ายรูป ซึ่งลูกชายได้พลัดตกลงไปในบ่อน้ำร้อนประมาณ 5 วินาที เธอจึงได้รีบนำตัวลูกชายส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลปาย ซึ่งโรงพยาบาลปายไม่สามารถรักษาอาการได้ จึงส่งมารักษาตัวที่ จ.เชียงใหม่ ขณะนั้นผิวหนังลูกพุพอง เริ่มยุ่ยหมดแล้ว แพทย์ต้องทำการผ่าตัดถึง 3 ครั้ง ล่าสุดพ้นขีดอันตราย แต่ยังต้องรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู
หลังเกิดเหตุ ได้ประสานเพื่อนที่อยู่พัทยาและติดต่อทางล่ามเพื่อช่วยเหลือ กระทั่งมีการนำเรื่องดังกล่าวโพสต์ลงเพจ ปัญหาที่กังวลคือเรื่องค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากไม่ได้ทำประกันไว้ ขณะนี้ค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาท ในส่วนนี้จะได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิออร์โธด็อกซ์ในกรุงเทพมหานคร แต่ค่ารักษาที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ยังไม่มี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เบื้องต้นมีกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวในเรื่องของการรักษาพยาบาล แต่จะต้องดูด้วยว่าเกิดจากความประมาท หรือ ความบกพร่องอื่นของแหล่งท่องเที่ยว จากนี้จะนำเรื่องส่งคณะอนุกรรมการพิจารณา ระหว่างนี้จะประสานกับทุกหน่วยงานช่วยเหลือดูแล และอำนวยความสะดวกหากต้องการย้ายไปรักษาในกรุงเทพฯ หรือเดินทางกลับประเทศ
ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์, เรื่องเล่าเช้านี้